ตลาดซื้อขายนักเตะ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญของวงการ ฟุตบอล นอกจากจะเป็นเรื่องของการล่าตัวนักฟุตบอลเก่งๆ มาเสริมทัพให้แกร่งขึ้น หรือการโละนักเตะที่มีสไตล์การเล่นไม่เข้ากับทีมให้พ้นออกไปแล้ว ยังมีเรื่องของการค้ากำไรจากค่าตัวของนักเตะ หรือที่มักเรียกกันว่า ‘ค้าแข้ง’ เป็นภาษาพูดของกลุ่มคนรักฟุตบอล
หนึ่งในกลยุทธ์ของวงการฟุตบอล ที่สามารถช่วยทำให้ทีมประสบความสำเร็จได้ นั่นก็คือการซื้อขายนักฟุตบอลในตลาดซื้อขายนักเตะ เพราะว่าแค่นักเตะที่เป็น ‘คีย์แมน’ ซึ่งหมายถึงกุญแจสำคัญเพียงไม่กี่คน ก็สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงภายในทีมได้อย่างไม่น่าเชื่อ
ถ้าหากย้อนกลับไปเมื่อ 100 กว่าปี ยุคเริ่มต้นของวงการฟุตบอลในประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นชาติแรกๆ ของโลก ที่มีการแข่งขันฟุตบอลอย่างเป็นระบบระเบียบ การซื้อขายนักเตะยังเป็นเรื่องที่ไม่คุ้นหู เนื่องจากในยุคนั้น นักฟุตบอลไม่สามารถย้ายไปเล่นให้กับทีมอื่นได้อย่างอิสระ อย่างเช่นการลงเล่นให้ทีมนี้ในวันนี้ แต่อีกสัปดาห์ไปเล่นให้กับอีกทีม เป็นต้น
Player Registration – ระบบลงทะเบียนผู้เล่นของตลาดซื้อขายนักเตะ
จนในปี 1885 ‘ระบบลงทะเบียนนักเตะ’ ก็ได้เข้ามามีบทบาท ด้วยความที่สมาคมฟุตบอลอังกฤษ ต้องการทำให้การแข่งขันมีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น และต้องการให้นักเตะอยู่ภายใต้การควบคุม โดยระบบดังกล่าวจะทำให้ผู้เล่นต้องลงทะเบียนกับทีมใดทีมหนึ่งได้เพียงทีมเดียว ในแต่ละฤดูกาลเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ระบบนี้ก็ยังคงมีช่องโหว่ เพราะถึงแม้ว่าผู้เล่นจะลงทะเบียนกับสโมสรไว้แล้วก็ตาม แต่ก็มีผลอยู่เพียงแค่ฤดูกาลเดียวเท่านั้น และทุกอย่างจะเหมือนเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่เมื่อจบฤดูกาล ซึ่งทำให้นักเตะสามารถย้ายไปอยู่กับสโมสรใดก็ได้อย่างอิสระ เพียงแค่ต้องลงทะเบียนให้ทันก่อนเปิดฤดูกาลถัดไป
ระบบดังกล่าวจึงได้ส่งผลกระทบตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากสโมสรต้องการเก็บผู้เล่นไว้ พวกเขาจะต้องเสนอสัญญาใหม่ด้วยค่าแรงที่สูงขึ้น เพียงแค่ผู้เล่นปฏิเสธ ก็สามารถย้ายไปเล่นให้สโมสรอื่นได้อย่างสบายๆ โดยไม่ติดเงื่อนไขใดๆ
เมื่อเงินตราเป็นใหญ่ ‘วัฏจักรปลาใหญ่กินปลาเล็ก’ ก็เกิดขึ้น สโมสรที่ร่ำรวยก็จะสามารถซื้อตัวนักเตะฝีเท้าดีไปจากทีมเล็กๆ โดยใช้ค่าแรงที่สูงกว่าเป็นเครื่องมือจูงใจ ทำให้ลีกการแข่งขันขาดความสมดุล เพราะผู้เล่นเก่งๆ ก็จะไปกระจุกกันอยู่ในสโมสรใหญ่ และทำให้ลีกการแข่งขันถึงจุดจบ
Retain and Transfer – ระบบการรักษาและแลกเปลี่ยนของตลาดซื้อขายนักเตะ
เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงขึ้นในตลาดซื้อขายนักเตะ สมาคมฟุตบอลอังกฤษจึงนำระบบใหม่ที่ชื่อว่า “รีเทน แอนด์ ทรานส์เฟอร์” มาบังคับใช้ โดยเริ่มต้นในฤดูกาล 1893-94 หากนักเตะคนใดลงทะเบียนกับสโมสรใดไปแล้วก็ตาม ก็จะไม่สามารถลงทะเบียนกับสโมสรอื่นได้อีก ถ้าหากไม่ได้รับอนุญาตจากสโมสรที่ลงทะเบียนไว้ในตอนแรก ถึงแม้ว่าจะหมดฤดูกาลไปแล้วก็ตาม
ระบบใหม่ดังกล่าวที่เข้ามาบังคับใช้ ซึ่งดูเหมือนจะดี แต่ก็ยังมีช่องโหว่เหมือนเดิม เพราะหากนักเตะไม่ต่อสัญญา ก็จะไม่มีสิทธิ์ย้ายสโมสร และหากสโมสรไม่อนุญาตให้ย้ายบวกกับไม่ต่อสัญญาเพิ่ม สโมสรก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องจ่ายเงินเดือนให้กับนักเตะ ส่วนนักเตะเองก็ไม่สามารถลงเล่นให้กับทีมไหนได้เลย
ซึ่งมีวิธีเดียวที่ผู้เล่นจะย้ายสโมสรได้คือ การให้สโมสรที่สนใจยื่นข้อเสนอจ่ายเงินเป็นค่าคืนสิทธิ์ลงทะเบียนของตัวผู้เล่น แล้วนี่ก็คือจุดเริ่มต้นของการจ่ายเงินเพื่อซื้อขายนักเตะ โดยมี จอห์น เรย์โนลด์ และ วิลลี โกรฟส์ ย้ายจาก เวสต์บรอมวิช อัลเบียน ไป แอสตันวิลล่าในปี 1983 ด้วยค่าตัว 50 ปอนด์ และ 100 ปอนด์ ซึ่งถือเป็น 2 นักเตะคนแรกในประวัติศาสตร์ลูกหนัง ที่มีการย้ายทีมแบบมีค่าตัว
การปฏิวัติวงการตลาดซื้อขายนักเตะ
การเข้ามามีบทบาทของระบบ “รีเทน แอนด์ ทรานสเฟอร์” ดูเหมือนว่าจะเป็นระบบที่เอื้อให้กับทุกสโมสรบนโลกใบนี้ เพราะไม่ต้องกังวลว่าจะเสียนักเตะไปแบบฟรีๆ หลังจบฤดูกาล และยังมีส่วนสำคัญที่ทำให้ลีกอังกฤษเติบโตไปพร้อมกัน จากการที่ไม่มีสโมสรใดผูกขาดความสำเร็จ
ตรงกันข้ามกับมุมมองของผู้เล่น เพราะระบบดังกล่าวเหมือนจะเป็นโซ่ล่ามพวกเขาไว้เสียมากกว่า แถมการที่สมาคมฟุตบอลได้นำกฎเพดานค่าเหนื่อยมาใช้ในเวลาถัดมา เพื่อต้องการรักษาเสถียรภาพทางการเงินของสโมสร ทำให้ผู้เล่นถูกกดค่าแรง และไร้ซึ่งอำนาจในการต่อรอง
เมื่อการเล่นในประเทศทำให้พวกเขาได้รับค่าเหนื่อยที่น้อยนิด จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเมื่อช่วงปี 1960 จอห์น ชาร์ลส์ และ จิมมี่ กรีฟส์ นักเตะชื่อดังของอังกฤษ ได้ตัดสินใจย้ายไปค้าแข้งในต่างแดนกับ ยูเวนตุส และ เอซี มิลาน
แล้วจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติก็เกิดขึ้น ในปี 1959 เมื่อ จอร์จ อีสต์แฮม ได้ทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมให้กับ นิวคาสเซิล โดยทำไป 18 ประตู จากการลงแข่ง 42 นัด ทำให้สโมสรพยายามต่อสัญญาที่กำลังจะหมดลงกับเขา แต่เจ้าตัวกลับปฏิเสธ และขอขึ้นบัญชีซื้อขายนักเตะ แต่สโมสรก็ไม่ยอมเช่นกัน เขาไม่อนุญาตให้ อีสต์แฮม ย้ายไปไหน ไม่ยอมคืนสิทธิ์การลงทะเบียน ไม่ขายนักเตะให้กับใคร และไม่จ่ายเงินเดือนให้เขาอีกด้วย ส่วนตัวนักเตะเองก็ตอบโต้ด้วยการไม่ยอมลงแข่งให้กับ นิวคาสเซิล ตลอดทั้งฤดูกาล 1960-61 และเดินทางไปทำงานขายจุกไม๊ก๊อกกับครอบครัวเพื่อนเพื่อประทังชีวิต
การประท้วงของเขาเริ่มเห็นผลในเดือนตุลาคมปี 1961 หรือเกือบหนึ่งปีให้หลัง เมื่อนิวคาสเซิล ยอมขาย อีสต์แฮม ให้อาร์เซนอล ด้วยค่าตัว 47,000ปอนด์ แต่ตัวเขาเองกลับรู้สึกว่ามันยังไม่คุ้มค่ากับเวลาที่สูญเสียไป จึงตัดสินใจยื่นฟ้องดำเนินคดีกับสโมสรต่อศาลสูงสุด โดยมีสมาคมนักฟุตบอลอาชีพอังกฤษ เป็นผู้ช่วยเรื่องค่าใช้จ่ายทั้งหมด
คดีถูกตัดสินในสองปีถัดมา โดยผู้พิพากษาเห็นด้วยว่าระบบ “รีเทน” ไม่สมเหตุสมผล ถึงแม้ว่าศาลจะไม่ได้สั่งให้นิวคาสเซิลชดใช้ค่าเหนื่อยให้แก่ อีสต์แฮม ตามที่ประท้วงขอ เนื่องจากไม่ได้มีการลงเล่นให้สโมสร แต่ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ระบบนี้หายไป ซึ่งในระหว่างดำเนินคดีฟ้องร้อง กระทรวงแรงงานของอังกฤษก็ได้ยกเลิกระบบเพดานค่าเหนื่อย เนื่องจากถูกกดดันจากสมาคมนักฟุตบอลอาชีพอังกฤษที่ขู่ว่าจะประท้วงด้วยการไม่ลงเล่น
หลังจากเกิดการล่มสลายของระบบสัญญาทาสนี้ ก็ทำให้ตลาดซื้อขายนักเตะคึกคักมากขึ้น แต่ก็ยังไม่ถือกับว่าอิสระแบบ100% จนกระทั่งเกิดการต่อสู้ของนักฟุตบอลชาวเบลเยียมคนหนึ่ง
กฎบอสแมน จุดเปลี่ยนตลอดกาลของตลาดซื้อขายนักเตะ
ถึง อีสต์แฮม จะช่วยปลดแอกให้เหล่านักเตะจากสัญญาทาสที่มีมาอย่างยาวนาน แต่ถึงอย่างนั้นในตลาดซื้อขายนักเตะก็ยังคงมีข้อผูกมัดอยู่ไม่น้อย แม้แต่นักเตะที่หมดสัญญากับสโมสรไปแล้วก็ตาม
ในปี 1990 ฌอง มาร์ค บอสแมน นักเตะสัญชาติเบลเยียม ในวัย 25 ปี ก็กำลังประสบปัญหาเช่นเดียวกัน โดยเขากำลังจะหมดสัญญา กับ อาร์เอฟซี ลีแอช สโมสรในลีกเบลเยียม โดยตลอดสองปีในสัญญา เขาได้ลงเล่นไปเพียง 3 นัด เท่านั้น จึงต้องวางแผนหาสโมสรใหม่ที่จะทำให้เขามีโอกาสลงแข่งมากกว่านี้
ทำให้ ดันเคิร์ก สโมสรลีกรองของฝรั่งเศส ยื่นข้อเสนอเข้ามา แต่สโมสรก็ไม่ยินยอมถึงแม้ว่าเขากำลังจะหมดสัญญาก็ตาม แถมยังเรียกเงินจากดันเคิร์ก 500,000 ปอนด์ จากการย้ายทีมในครั้งนี้ด้วย
ดีลดังกล่าวก็ล่มลง เมื่อ ดันเคิร์ก ไม่ยอมรับข้อเรียกร้อง ส่งผลให้ บอสแมน ถูกแบนจาก ลีแอช แถมลดค่าเหนื่อยลง 75% เหลือเพียง 500 ปอนด์ต่อเดือน และถูกผูกมัดไว้กับสโมสรในฐานะพนักงานคนหนึ่ง ถึงแม้ว่าหลังจากนั้นเขาจะได้ย้ายทีมตามต้องการ แต่ก็เป็นเพียงสโมสรในลีกระดับมือสมัครเล่นเพียงเท่านั้น
ถึงแม้จะเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ ที่สโมสรมีสิทธิ์ในตัวนักเตะ ไม่ว่าจะหมดสัญญาหรือไม่ก็ตาม แต่บอสแมนก็รู้สึกว่าไม่เป็นธรรม ทำให้เขายื่นฟ้องดำเนินคดีทั้งกับ ลีแอช และ ยูฟ่า โดยอ้างถึงสนธิสัญญาแห่งกรุงโรม ปี 1957 เรื่องสิทธิเสรีภาพในการโยกย้ายถิ่นฐานในกลุ่มสมาชิกชาติยุโรป หรือ สหภาพยุโรป ในยุคปัจจุบัน
หลังจากต่อสู้กันมานานกว่า 5 ปี ทำให้เขาตกอยู่ในฐานะบุคคลล้มละลายและล้มเหลวในชีวิตคู่ ในที่สุดศาลยุติธรรมแห่งยุโรปก็ได้พิพากษาให้ บอสแมน เป็นผู้ชนะเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 1995 ที่ทำให้นักเตะสามารถย้ายทีมได้อย่างอิสระเมื่อหมดสัญญา และเกิดกฎใหม่ที่เรียกว่า “กฎบอสแมน” ขึ้นและมันก็ทำให้ตลาดการซื้อขายนักเตะเปลี่ยนไปทั้งโลก
บทความแนะนำ
ไทยลีก2022 (Thai League หรือชื่อย่อ T1) เป็นระบบการแข่งขันฟุตบอลลีกในระดับสูงสุดของประเทศไทย มีการต่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2539 ภายใต้การบริหารของ บริษัท ไทยลีก จำกัด ในแต่ละฤดูกาลจะมีสโมสรเข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด 16 สโมสร ช่วงฤดูกาลแข่งขันจะแข่งกันระหว่างเดือนมีนาคม ไปจนถึงเดือนตุลาคมของทุกปี โดยสโมสรจะแข่งขันกันแบบพบกันทั้งหมด แบ่งเป็นเหย้า และเยือน 2 นัด
สำหรับเด็กๆ ที่ชื่นชอบการเล่นกีฬาฟุตบอล การถูกคัดเลือกเพื่อเข้าร่วมสโมสรฟุตบอลชื่อดังอย่างอาร์เซนอล ก็เป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นของอนาคตที่รุ่งโรจน์ของตัวนักเตะเอง
แทงบอลให้ได้เงินด้วยเทคนิคการสังเกตราคาบอลก่อนลงเดิมพัน วิเคราะห์แทงบอลแบบไม่ต้องรู้จักทีมแต่ทำกำไรจากการแทงบอลออนไลน์ได้งามๆทุกวัน